เครื่องพิมพ์ 3 มิติ เป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีที่เรียกว่า Advanced Additive Manufacturing หรือ การผลิตทดแทน ซึ่งครอบคลุมทุกอย่างตั้งแต่ เซนเซอร์ การประมวลข้อมูล (Data processing) จนถึง เทคนิคการผลิต ซึ่งรวมถึง Laser cutting และ Numerical control (CNC) machining ซึ่งรวมถึงเครื่องมืออื่นๆ ดังเช่น เครื่องมือทำให้กลม หรือเครื่องมือบด ซึ่งควบคุมตัวเองด้วยระบบหุ่นยนต์ เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ทำงานเหมือนเครื่องพิมพ์แบบอิงค์เจท แต่การป้อนแผ่นวัสดุเข้าเครื่องต้องเป็น พลาสติก โลหะ หรือ เซลล์มีชีวิต
เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งสามารถสนองความต้องการเฉพาะของผู้ใช้งาน กำลังขยายไปสู่การใช้งานของผู้ใช้ในบริษัทขนาดใหญ่ ห้องปฏิบัติการวิจัยในมหาวิทยาลัย ตลอดจนการผลิตภายในบ้าน ทำให้ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นสามารถออกแบบและสร้างเครื่องมือใหม่ๆ ออกมาได้ โดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากหรือต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ ทำให้ลักษณะเสรีของเทคโนโลยีนี้ สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์เป็นอย่างมาก
ความก้าวหน้าทางการแพทย์โดยใช้เทคโนโลยี เครื่องพิมพ์ 3 มิติ เป็นความหวังแก่ผู้คนที่มีปัญหาสุขภาพและคุณภาพชีวิต ไม่ว่าจะแบบเกิดมาไม่ครบสามสิบสอง หรือแบบที่อวัยวะของร่างกายสูญเสียสมรรถภาพไป ทั้งมาจากสาเหตุของการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ ไม่เพียงแต่มนุษย์เท่านั้นที่สามารถพึ่งพาทางการแพทย์จากเทคโนโลยี เครื่องพิมพ์ 3 มิติ แม้กระทั่งเหล่าบรรดาสัตว์ที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกันก็ได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ เพื่อให้เข้ามาเติมเต็มชีวิตด้วยเช่นกัน ส่วนวิธีการสร้างอวัยวะสามมิติของมนุษย์ และสัตว์นั้นก็ไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คิด เพราะเพียงแค่สร้างแบบจำลองอวัยวะในคอมพิวเตอร์ขึ้นมา ดูจุดเชื่อมต่อของกระดูกและกล้ามเนื้อของอวัยวะนั้นๆ ก่อนพิมพ์ชิ้นส่วนออกมา แต่สิ่งที่ยากสุดก็คือ การทำอย่างไรให้อวัยวะสามมิตินั้นสามารถนำมาใช้งานได้จริง และสอดรับกับร่างกายของผู้ป่วยได้