ด้วยกระแสที่มาแรง และตัวเลขของการเติบโตที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ของธุรกิจประเภทกีฬาและการออกกำลังกาย ซึ่งคาดการณ์ว่าในปีนี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาอีกด้วย ทำให้มีคนจำนวนมากสนใจที่จะเปิดธุรกิจฟิตเนส และอยากจะเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดนี้
และอย่างที่รู้กันดีว่าการที่จะเอาชนะใจของลูกค้าได้ Gym ของคุณจะต้องตอบโจทย์ลูกค้าส่วนใหญ่ที่เข้ามาใช้บริการ โดยส่วนหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญในการทำให้สำเร็จก็คืออุปกรณ์และเครื่องออกกำลังกายที่ต้องถูกใจลูกค้า รวมไปถึงฝั่งเราเองที่ผู้ประกอบการก็จะต้องได้รับความคุ้มค่าจากมันด้วยเช่นกัน
แต่เราจะรู้ได้ไงว่า….
จะเลือกซื้ออุปกรณ์ออกกำลังกายอย่างไรดี ?
เราควรมีเครื่องออกกำลังกายแต่ละประเภทจำนวนกี่ชิ้น ?
ยี่ห้อหรือแบรนด์ไหนที่ตอบโจทย์กับ Gym ของเรา ?
โดยใน 5 หัวข้อด้านล่างนี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยตัดสินใจสำหรับผู้ผ่านขั้นตอนการวางแผนต่างๆ (เช่น กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย กำหนดช่องทางรายได้ หรือดีไซน์พื้นที่สำหรับการจัดวางอุปกรณ์และเครื่อง) มาแล้ว และอยู่ในขั้นตอนการเลือกซื้ออุปกรณ์และเครื่องออกกำลังกาย
สำหรับใครที่เพิ่งมีไอเดียในการเปิดธุรกิจฟิตเนส เราขอแนะนำให้คุณได้เรียนรู้จากคู่มือการเปิดฟิตเนสก่อนเพื่อให้เข้าใจภาพรวมของธุรกิจนี้ครับ
เอาหล่ะ เกริ่นมานานแล้วเข้าสู่หัวข้อแรกกันเลยดีกว่าครับ
1. ขนาดและพื้นที่
ก่อนที่จะเลือกซื้ออุปกรณ์หรือเครื่องออกกำลังใดๆ คุณควรทำการประเมิณขนาดและกำหนดพื้นที่ในแต่ละส่วนของ Gym ให้เรียบร้อย เพราะถ้าคุณไม่รู้ตัวเลขที่สำคัญเหล่านี้คุณก็จะไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าอุปกรณ์หรือเครื่องออกกำลังกายแต่ละประเภทจะต้องมีกี่ชิ้น
ที่สำคัญคือ ห้ามลืมว่านอกจากพื้นที่สำหรับวางอุปกรณ์และเครื่องออกกำลังกายแล้ว ก็ยังมีพื้นที่ในโซนอื่นๆ ที่มีความสำคัญ เช่น ล็อบบี้ ออฟฟิศ ห้องน้ำ ห้องล็อกเกอร์ หรือห้องที่มีฟีเจอร์พิเศษอื่นๆ ซึ่งคุณควรคำนึงถึงพื้นที่เหล่านี้ด้วยก่อนที่จะเลือกซื้อ
หลายคนมักจะพลาดโดยเลือกที่จะซื้ออุปกรณ์และเครื่องต่างๆมาไว้ก่อน ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้ธุรกิจเกิดสะดุด เพราะอุปกรณ์และเครื่องที่ซื้อมาไม่เหมาะสมกับพื้นที่ของ Gym หรืออาจจะไม่ใช่แบบที่ลูกค้าส่วนใหญ่ถูกใจและต้องการ
Gym ส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะจัดสรรพื้นที่ 60 % ไว้สำหรับโซนที่เป็นอุปกรณ์และเครื่องออกกำลังกาย และพื้นที่ 40 % สำหรับโซนอื่นๆ
2. งบประมาณที่จะใช้ลงทุน
ในการเลือกซื้ออุปกรณ์และเครื่องออกกำลังกาย สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือต้นทุนหรืองบประมาณที่เราจัดสรรไว้ โดยทั้งนี้ก็จะขึ้นอยู่กับขนาดและพื้นที่ของ Gym ด้วย แต่นอกจากงบประมาณสำหรับอุปกรณ์และเครื่องแล้วก็ยังมีต้นทุนอื่นๆ ที่ต้องคำนึงถึงด้วย เช่น
สถานที่
ประกันภัย
พนักงานและเทรนเนอร์
ตกแต่งสถานที่
โฆษณา
ดังนั้นคุณก็ควรจัดสรรงบประมาณในแต่ละส่วนให้เหมาะสมที่สุด และสำหรับอุปกรณ์และเครื่องออกกำลังกาย เราแนะนำให้คุณเช็คราคาของสินค้าแต่ละประเภทก่อน
หลังจากที่เช็คราคาและได้ต้นทุนของอุปกรณ์และเครื่องออกกำลังกายคร่าวๆแล้ว ก็อาจจะดูความคุ้มค่าโดยการคำนวณหาจากระยะเวลาคืนทุน
ตัวอย่างเช่น Gym A เป็นยิมขนาดเล็กและลงทุนกับอุปกรณ์และเครื่องออกกำลังกายเป็นเงินจำนวน 800,000 บาท คาดการณ์ว่าจะมีสมาชิกเฉลี่ยต่อเดือนจำนวน 100 คน โดยมีโมเดลการคิดค่าบริการแบบรายเดือน,ราย 6 เดือน และรายปี เฉลี่ยสมาชิกต้องจ่ายคนละ 1,200 บาทต่อเดือน
ก็จะเท่าว่า Gym A จะมีรายได้เดือนละ 120,000 บาท (1,200*100) หลังจากหักต้นทุนและค่าใช้จ่ายอื่นๆแล้ว เช่น ค่าน้ำค่าไฟ เงินเดือนพนักงาน หรือค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด เหลือเดือนละ 30,000 บาท
Gym A จะใช้เวลาคืนทุนอุปกรณ์และเครื่องออกกำลังกายทั้งหมด 800,000/30,000 เท่ากับประมาณ 27 เดือนนั่นเอง (เงินลงทุน / ผลประโยชน์สุทธิที่จะได้รับในแต่ละเดือน)
3. ความรู้พื้นฐานของอุปกรณ์และเครื่องออกกำลังกายแต่ละประเภท
อุปกรณ์และเครื่องออกกำลังกายส่วนใหญ่นั้นจะแบ่งออกเป็น 2 หมวดหมู่ คือ
กลุ่มที่เป็นประเภทคาร์ดิโอ (Cardio) : เป็นอุปกรณ์และเครื่องออกกำลังกายที่มีจุดประสงค์หลักคือการเผาพลาญและการไหลเวียนของเลือด โดยอุปกรณ์และเครื่องออกกำลังกายประเภทนี้ ก็มีอย่างเช่น เครื่องปั่นจักรยาน (stationary bicycle) , ลู่วิ่งไฟฟ้า (treadmill) , เครื่องกรรเชียงบก (rowing machine) หรือ เครื่องเดินวงรี (elliptical trainers)
กลุ่มที่เป็นประเภทเสตรนจ์ (Strength) : เป็นอุปกรณ์และเครื่องออกกำลังกายที่มีจุดประสงค์หลักคือการเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อโดยอาศัยน้ำหนักของอุปกรณ์หรือเครื่อง เพื่อสร้างแรงต้าน โดยอุปกรณ์และเครื่องออกกำลังกายประเภทนี้ ก็เช่น ดัมเบล (Dumbbells) , บาร์เบล (Barbells) , สมิทแมชชีน (smith machine) หรือ Leg press machine (เครื่องบริหารกล้ามเนื้อขา)
ซึ่งสิ่งที่คุณควรมีก็คือพื้นฐานในการใช้งานเบื้องต้นของอุปกรณ์และเครื่องออกกำลังกายเหล่านั้น เพื่อใช้ในการแนะนำลูกค้าภายใน Gym วิเคราะห์ปัญหาเบื้องต้นเมื่อชำรุด หรือเพื่อรู้วิธีในการดูแลรักษานั่นเอง
4. เงื่อนไขการรับประกันและการซ่อมบำรุง
แน่นอนอยู่แล้วว่าสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยคุณในการตัดสินใจเลือกซื้ออุปกรณ์และเครื่องออกกำลังกาย ก็คือเงื่อนไขการรับประกันและการซ่อมบำรุง เพราะพวกมันมีแนวโน้มที่จะถูกใช้งานบ่อยขึ้นตามจำนวนของลูกค้าที่เข้ามาใน Gym โดยเฉพาะเครื่องออกกำลังกายประเภทคาร์ดิโอ เช่น ลู่วิ่งไฟฟ้า หรือเครื่องปั่นจักรยาน ที่อาจจะชำรุดหรือมีปัญหาได้
สิ่งที่คุณต้องการก็คือข้อเสนอของระยะเวลาในการดูแลจากช่างเทคนิค เพื่อแก้ปัญหาต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนชิ้นส่วนอะไหล่ในกรณีที่อุปกรณ์และเครื่องออกกำลังกายต่างๆภายใน Gym เกิดชำรุด โดยส่วนใหญ่ระยะเวลาของเงื่อนไขจะอยู่ที่ประมาณ 1-2 ปี และสำหรับการดูแลและตรวจเช็ค ก็มีทั้งแบบที่ต้องเสียเงินเป็นรายครั้งและแบบฟรีในจำนวนครั้งที่กำหนด
5. ซัพพลายเออร์ที่ใช่
ในการซื้ออุปกรณ์และเครื่องออกกำลังกายที่มีจำนวนมาก ซัพพลายเออร์ที่มีหน้าที่เป็นคู่ค้ากับเราก็ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญอย่าง เพราะเขาจะเป็นต้องเป็นผู้ที่สามารถไว้วางใจได้ ตรงเวลา ทำงานได้ตามที่ตกลง และมีความเชี่ยวชาญพร้อมกับประสบการณ์ด้านนี้อย่างยาวนาน
เพราะสุดท้ายแล้วเมื่อคุณมองหาคุณสมบัติเหล่านี้จะทำให้คุณเจอกับซัพพลายเออร์ที่ใช่ ที่จะไม่ได้เป็นเพียงคู่ค้าของคุณ แต่จะเป็นผู้ที่คอยให้คำปรึกษาให้คุณในการทำธุรกิจฟิตเนสนั่นเอง